เนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๒ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทร รามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศร ราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาพระอัฐิสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ทั้งนี้ก็โดยที่ทรงพระราชอนุสรณ์คำนึงถึงพระคุณูปการที่สมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นั้น ทรง ปฏิบัติบำเพ็ญ ทั้งต่อพระองค์และต่อคณะสงฆ์ พุทธบริษัท ชาติบ้านเมืองเป็นอเนกประการมายาวนาน ถ้าคณนาโดยพระชนมายุ ก็ถึง ๑๐๐ ปี โดยพระสมณฐานันดรที่สกลมหาสังฆปริณายกก็ถึง ๒๔ ปี ซึ่งนับว่ายาวนานกว่า สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใดในยุคกรุงรัตนโกสินทร์


กล่าวโดยพระสมณกิจอันนับเนื่องในบรมนาถบพิตรสมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นั้น ก็ได้ทรงสนองพระราชกิจจานุกิจอย่าง ใกล้ชิดต่อเนื่องมาทั้ง ๒ รัชกาล กล่าวคือ ในบรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ สมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นั้น ก็ได้ทรงปฏิบัติพระสมณกิจ ฉลองพระเดชพระคุณ เริ่มแต่ครั้งเสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๙ เป็นต้นมา โดยทรงรับพระภาระ เป็นพระอภิบาลและร่วมถวายพระธรรมวินัยใกล้ชิดตลอดระยะ เวลาที่ทรงบำเพ็ญเนกขัมมปฏิบัติและสมณวัตรจริยาระหว่างที่เสด็จประทับ ณ พระปั้นหย่า วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นเวลา ๑๕ วัน แม้เมื่อทรงลาผนวชเสด็จคืนสู่พระราชภารบริหาร สมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นั้น ก็ยังได้ถวายธรรมานุศาสน์ตามกาลานุกาล ถวายพระธรรมเทศนามงคลวิเสสกถาและพระธรรมกถาใน การพระราชพิธีมาโดยตลอด สมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นั้นจึงทรงเป็นที่ทรงเคารพบูชาในสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศรฯ บรมนาถบพิตร เป็นที่ยิ่ง


ในบรมนาถบพิตร รัชกาลปัจจุบัน สมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นั้น ก็ได้ทรงปฏิบัติพระสมณกิจ ฉลองพระราชกิจจานุกิจมาแต่ครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ นับแต่ทรงเป็นผู้คิดพระนามถวาย ประกอบพระราชดำริแต่เมื่อแรกพระราชสมภพ ได้ถวายพระอนุศาสนีและพระศาสโนวาทในโอกาสต่าง ๆ แต่ครั้งยังทรงเป็นพระราชกุมาร ทั้งได้เสด็จมาถวายสักการะและทรงสนทนาธรรม ณ วัดบวรนิเวศวิหาร บ่อยครั้ง กระทั่งเสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เมื่อพุทธศักราช ๒๕๒๑ สมเด็จ พระสังฆราชเจ้าพระองค์นั้น ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระญาณสังวร ก็ได้ทรงปฏิบัติหน้าที่เป็น พระราชกรรมวาจาจารย์ และรับภาระเป็นพระอาจารย์ถวายพระธรรมวินัยตลอดเวลาที่ทรงผนวชเสด็จประทับ ๖ ณ พระปั้นหย่า วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นเวลา ๑๕ วัน เมื่อทรงลาผนวชแล้ว ก็ยังได้ถวายธรรมานุศาสน์ และถวายธรรมกถาตามกาลานุกาลตลอดมา


ด้วยพระสมณกิจและพระสมณวัตรที่สมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นั้น ได้ทรงปฏิบัติอย่างต่อเนื่องยาวนานในบรมนาถบพิตรทั้ง ๒ พระองค์ ดังพรรณนามา สมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นั้น จึงทรงเป็น ที่ทรงศรัทธาปสาทะและทรงเป็นที่ทรงเคารพบูชาในพระองค์เป็นที่ยิ่ง เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติยศและเทิดทูนบูชาอย่างสูงสุด กอปรด้วยพระราชศรัทธาปสาทะให้เป็น ที่ปรากฏแก่ทวยราษฎร์ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาพระอัฐิ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ขึ้นเป็น สมเด็จ พระสังฆราชเจ้า กรมหลวง มีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร วชิราลงกรณ ราชาภินิษกรมณาจารย์ สุขุมธรรมวิธานดำรง อริยวงศาคตญาณวิมล สกลมหาสังฆปริณายก ตรีปิฎกปริยัติธาดา วิสุทธจริยาธิสมบัติ สุวัฑฒนภิธานสังฆวิสุต ปาวจนุตตมพิสาร วชิรญาณวงศวิวัฒ พุทธบริษัทคารวสถาน วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ วิบุลสีลาจารวัตรสุนทร สรรพคณิศรมหาสังฆาธิบดี ศรีสมณุดมบรมบพิตร”


การที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาพระอัฐิสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ครั้งนี้ นับว่าเป็นเหตุการณ์วิเสสอย่างหนึ่งในประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ไทย เพราะไม่เคยมีมาก่อน และนับเป็นแบบธรรมเนียมที่เริ่มมีขึ้นในรัชกาลนี้เป็นปฐม